สรุปแล้ว แฟลต อพาร์ตเมนต์ แมนชั่น หรือคอนโด แตกต่างกันยังไง ?
- Thanakrit iamborwornkun
- Nov 12, 2024
- 1 min read
Updated: Mar 18
ตึกที่พักอาศัยหลาย ๆ ประเภท ที่เราเห็นกัน ทำไมถึงได้มีชื่อเรียกแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแฟลต อพาร์ตเมนต์ แมนชั่น หรือคอนโดมิเนียม แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ทั้งในมุมมองของประเทศไทยในยุคนี้ หรือในมุมมองของประเทศอื่น ๆ และความหมายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ เรามาหาคำตอบในบทความนี้กันครับ
จริง ๆ แล้ว แฟลต อพาร์ตเมนต์ แมนชั่น หรือคอนโดมิเนียม นั้น ไม่ได้มีคำนิยามในการแบ่งแยกที่ตายตัวซะทีเดียว เพราะคำเหล่านี้ในบ้านเราล้วนเป็นคำที่ถูกหยิบยืมมาจากภาษาต่างประเทศ แต่ชื่อเรียกเหล่านี้ อาจถูกเรียกไปตามเหตุผลทางด้านการตลาดและช่วงเวลาของการก่อสร้างในแต่ละยุคสมัยมากกว่า
ในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่นั้น หากเป็นอาคารสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ถูกสร้างมานานแล้ว มักจะเรียกว่า "แฟลต" แต่ถ้าเป็นอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงหลังและมีความทันสมัยมากขึ้น จะเรียกว่า "อพาร์ตเมนต์" ต่อมาเมื่อมีความหรูหรามากขึ้นจึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า "แมนชั่น" เพื่อให้ดูดีขึ้น และในปัจจุบัน หากอาคารมีความทันสมัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สามารถทำการซื้อ-ขายกรรมสิทธิ์ในการถือครองห้องชุดได้ อาคารนั้นจะถูกเรียกว่า "คอนโดมิเนียม"
ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ อาคารลักษณะนี้มักเรียกรวมกันว่า "แฟลต" (Flat) ซึ่งแฟลตในอังกฤษมีขนาดกว้างและหรูหรามากกว่าคอนโดมิเนียมในประเทศไทยเสียอีก ส่วนในสหรัฐอเมริกา จะใช้คำว่า "อพาร์ตเมนต์" (Apartment) ซึ่งมักมีความหรูหราและราคาสูงกว่าคอนโดมิเนียมในบ้านเรา

ความหมายและที่มาของแต่ละชื่อ
• แฟลต (FLAT) เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศเยอรมัน เป็นการสร้างที่อยู่อาศัย เพื่อทดแทน ชุมชน (สลัม) แก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน รูปแบบสถาปัตยกรรมเรียบง่าย การก่อสร้างไม่มีอะไรซับซ้อน ใช้แผ่นปูนหล่อสำเร็จ มาวางต่อๆกัน โดยมากพบเพียง 4 ชั้น ไม่เกิน 8 ชั้น คำว่า FLAT ก็คือคำเรียกงานออกแบบ ของผู้ออกแบบคนแรกนั่นเอง
• อพาร์ตเมนต์ (Apartment) ก็คล้ายๆกัน มีที่มาจากคำว่า ‘Apart’ หมายถึงลักษณะการแบ่งแยก (แบ่งพื้นที่เป็นห้องๆ) โดยคำว่า อพาร์ตเมนต์ จะนิยมใช้ในฝั่งอเมริกา คำว่า แฟลต จะนิยมใช้ในฝั่งอังกฤษ
• คอนโดมิเนียม (Condominium) มาจากภาษาฝรั่งเศษ (“con” หมายถึงรวมกัน “domus” หมายถึงสถานที่อยู่อาศัย) หมายถึง อาคารที่อยู่อาศัยที่แบ่งซอยเป็นส่วนต่าง ๆ ให้คนต่างครอบครัวพักอยู่โดยสามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้ ทั้ง 3 แบบจึงจัดเป็น”ที่อยู่อาศัยรวม”ไม่แตกต่างกัน ต่างกันเพียงชื่อเรียก โดยในต่างประเทศอาจไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเป็นอาคารสูง แต่เป็นอาคารอะไรก็ได้ที่สามารถแบ่งแยกห้องกันอยู่หลายๆครอบครัว
ซึ่งในกฎหมายที่ว่าด้วยการควบคุมอาคารของประเทศไทยนั้น จะเรียกที่อยู่อาศัยในแนวตั้งทั้งหมดนี้รวมกันว่า “อาคารอยู่อาศัยรวม” ซึ่งหมายถึง อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว มีห้องน้ำ ห้องส้วม ทางเดิน ทางเข้าออก และทางขึ้นลงลิฟต์แยกจากกันหรือร่วมกัน
แต่ถึงแม้ แฟลต อพาร์ตเมนต์ แมนชั่น และคอนโดมิเนียม จะถูกเรียกรวมกันว่าเป็นอาคารอยู่อาศัยรวม คือ แต่ด้วยลักษณะการบริการ และสิทธิในการครอบครองที่ต่างกัน จึงทำให้ทั้งหมดนี้จะถูกกำหนดอยู่ภายใต้พระราชชัญญัติและกฎระเบียบข้อบังคับที่ต่างกัน ซึ่งเราจะสามารถแบ่งแยกได้จาก พระราชชัญญัติและกฎระเบียบข้อบังคับที่ต่างกัน โดย พรบ. ที่เกี่ยวข้องและใช้เป็นข้อกำหนดในการก่อสร้างและลักษณะการดำเนินกิจการของ แฟลต อพาร์ตเมนต์ แมนชั่น และคอนโดมิเนียม จะมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 2 พรบ. ได้แก่
1. พรบ. อาคารชุด พระราชบัญญัติอาคารชุดของไทย เป็น พรบ. ที่มีจุดประสงค์เพื่อการควบคุม และกำกับดูแลการดำเนินการของกิจการอาคารที่อยู่อาศัยรวม โดยมีสาระสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่การขายกรรมสิทธิ์ในการถือครองห้องชุด
กล่าวคือ อาคารที่อยู่อาศัยรวมภายใต้ พรบ. อาคารชุดนั้น จะต้องเป็นรูปแบบสิทธิการ ซื้อ-ขาย ขาด ที่ผู้ซื้อจะได้รับกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของห้อง พร้อมได้รับการแบ่งกรรมสิทธิ์ในอาคารออกเป็นสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งหากจะพูดให้ง่ายกว่านั้น ก็คือ ห้องเป็นของเรา พื้นที่ทางเดิน สิ่งอำนวยความสะดวก และที่ดินของโครงการก็ถือว่าเป็นของเราส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยอาคารที่เข้าข่ายและต้องปฏิบัติตาม พรบ. ฉบับนี้ ก็ได้แก่ คอนโดมิเนียม นั่นเอง
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องพักภายในคอนโดมิเนียมทุกแห่ง ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในเจ้าของร่วมของคอนโดมิเนียมแห่งนั้นด้วยเช่นกัน
2. พรบ. ควบคุมอาคาร สำหรับอาคารที่อยู่อาศัยรวมประเภทที่เหลืออย่าง แฟลต อพาร์ตเมนต์ และแมนชั่นนั้น จะอยู่ภายใต้ พรบ. ควบคุมอาคาร ซึ่งมีสาระสำคัญเฉพาะในส่วนของการควบคุมการออกแบบตัวอาคารเท่านั้น และไม่ได้มีการระบุถึงกรรมสิทธิ์ในการถือครองร่วมกันอย่างเช่นใน พรบ. อาคารชุด จึงทำให้ แฟลต อพาร์ตเมนต์ และแมนชั่น สามารถเปิดให้บริการเช่ารายเดือนและรายปี หรือในบางแห่งอาจเปิดให้สามารถทำการเซ้งหรือขายขาดได้คล้ายกับคอนโดมิเนียม แต่กรรมสิทธิ์ในอาคารทั้งหมดจะยังตกเป็นของเจ้าของอาคารแต่เพียงผู้เดียวเหมือนเดิม
ดังนั้นแล้ว ความแตกต่างของ แฟลต อพาร์ตเมนต์ แมนชั่น และคอนโดมิเนียม ที่นอกเหนือจากชื่อเรียกและเหตุผลทางการตลาด ก็จะอยู่ที่กรรมสิทธิ์ในการถือครองนั่นเอง
Source:
Comments