top of page

เริ่มต้นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของไทย การสมรสเท่าเทียม

  • SARUP Reporter
  • Jan 24
  • 1 min read

Updated: Apr 28

สมรสเท่าเทียมมาถึงแล้ว เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2568 เป็นวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับที่ได้รับการปรับปรุงมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ คือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567


จริง ๆ แล้วนั้นกฎหมายสมรสเท่าเทียมคือกฎหมายสมรสเดิมที่มีการปรับปรุงจากเดิม ที่ ”การสมรสจะทำได้เฉพาะเพศสภาพ ชายและหญิง เท่านั้น” กฎหมายเปลี่ยนมาใช้คำว่า "บุคคล" สองคน แทนคำว่า “ชาย” และ “หญิง” ทำให้บุคคลไม่ว่าจะมีเพศใดก็สามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้คำว่า "คู่สมรส" แทน "สามี" และ "ภริยา" เพื่อให้ครอบคลุมถึงบุคคลทุกเพศ


โดยได้สิทธิต่าง ๆ เหมือนคู่สมรสแบบชายหญิงทุกประการ เช่น สิทธิในการตัดสินใจทางการแพทย์ของคู่สมรส, สิทธิทางทรัพย์สินสมรส, สิทธิการดูแลบุตร, 


สมรสเท่าเทียม

คุณสมบัติผู้จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม


1. บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล

2. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ

3. ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา

4. สถานะการสมรสของทั้งสองฝ่ายต้องไม่เป็นคู่สมรสกับบุคคลอื่นอยู่ ณ ขณะนั้น หากเคยสมรสมาก่อน ต้องมีการหย่าร้างหรือการสิ้นสุดการสมรสตามกฎหมายแล้ว

5. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้

6. ระยะเวลารอคอย (สำหรับหญิง) หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่

  • คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น

  • ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้

  • สมรสกับคู่สมรสเดิม

  • บุคคลที่มีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้

  • มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์



วิธีการและขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส

การเตรียมเอกสาร เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเอกสารครบถ้วนและถูกต้องครับ


  1. บุคคลสัญชาติไทยทั้งสองฝ่าย 

- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง หรือหลักฐานยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เช่น แอปพลิเคชัน ThaID


  1. บุคคลสัญชาติไทยและชาวต่างชาติ

- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของคนไทย หรือหลักฐานยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

- หนังสือเดินทาง (Passport) ของชาวต่างชาติ

- หนังสือรับรองสถานภาพการสมรส (Certificate of No Impediment to Marriage) ที่ออกโดย สถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่ชาวต่างชาติถือสัญชาติ ซึ่งรับรองว่าบุคคลนั้นมีสถานะ โสด และสามารถสมรสได้ หนังสือรับรองนี้ต้องได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและรับรองโดยกรมการ กงสุล กระทรวงการต่างประเทศ


  1. บุคคลต่างชาติทั้งสองฝ่าย

- หนังสือเดินทาง (Passport) ของทั้งสองฝ่าย

- หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องได้รับการแปลและรับรองเช่นเดียวกัน


  1. กรณีเคยสมรสมาก่อน

- ใบสำคัญการหย่า หรือคำสั่งศาลที่แสดงว่าการสมรสสิ้นสุดลงแล้ว

- กรณีหญิงที่เคยสมรส หากยังไม่พ้นระยะเวลา 310 วันหลังการสมรสสิ้นสุดลง ต้องมีเอกสาร เพิ่มเติม เช่น ใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือคำสั่งศาลอนุญาตให้สมรสได้


  1. พยาน

- พยานบุคคล 2 คน ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง


การยื่นคำร้อง - สถานที่

ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส (คร.1) ณ สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ ในท้องที่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ และสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ หรือสถานที่ที่นายทะเบียนกำหนด เช่น ในบางครั้งอาจมีการจัดกิจกรรมพิเศษที่เปิดให้จดทะเบียนสมรสในสถานที่อื่นๆ


การตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสาร

เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติของคู่สมรส หากถูกต้องครบถ้วน จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป


การจดทะเบียน

1. คู่สมรสและพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนสมรส

2. เจ้าหน้าที่จะออกทะเบียนสมรสให้เป็นหลักฐาน


ค่าธรรมเนียม

1. การจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จด ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

2. การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักงาน ในบางกรณี อาจสามารถขอจดทะเบียนสมรสนอกสำนักงานได้ โดยต้องมีเหตุผลอันสมควรและเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท หรือตามที่กำหนด


เพิ่มเติม

  • การสมรสกับชาวต่างชาติ มีรายละเอียดและขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่า ควรศึกษาข้อมูลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่เกี่ยวข้อง หรือสอบถามเจ้าหน้าที่โดยตรง

  • หากต้องการทำสัญญาก่อนสมรส ควรจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและลงนามโดยคู่สมรสและพยาน ก่อนการจดทะเบียนสมรส

Comments


ติดต่อเรา
253 อาคาร 253 อโศก ชั้น 29
แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม. 10110
ติดต่อโฆษณา 084-691-6161

สรุปเรื่องเด่น

นโยบายความเป็นส่วนตัว

สรุปไปเรื่อย

นโยบายคุกกี้

สรุปไลฟ์

สรุปเกมมิ่ง

  • Instagram
  • Facebook
  • Twitter

©2022 by Sarup.online Proudly created by Aktivist Group

bottom of page